หุ้นกู้ มีไว้ทำไม ใช้ทำอะไร แล้วใครได้ประโยชน์บ้างหล่ะ?

วันนี้เราจะมาแชร์เรื่องราวที่กำลังเป็นที่สนใจในวงการ การเงินและนักลงทุน ซึ่งนั่นก็คือ หุ้นกู้ โดยหุ้นกู้ตรงตามความหมายเลยก็คือ ผู้ที่ออกหุ้นกู้ อาทิ บริษัทมหาชนต่าง ๆ ในตลาดหลักทรัพย์ ต้องการระดมทุนไปทำบางสิ่งบางอย่างโดยเสนอขาย หุ้นกู้ ออกมาเพื่อให้ประชาชนทั่วมีสิทธิได้เข้ามาทำการ ให้ยืมเงิน อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และ สิ่งนี้เองถูกเรียกว่า ตราสารหนี้ และแน่นอนว่าตราสารหนี้ มีผลตอบแทนแก่ผู้ที่ซื้อนั่นก็คือ เราสามารถได้รับดอกเบี้ยตามจำนวนหน่วยลงทุนที่ตกลงกับบริษัทที่เสนอขายหุ้นกู้นี้ให้กับคนทั่วไป ซึ่งในประเทศไทยจะกำหนดการออกหุ้นกู้ไว้หน่วยละ 1,000 บาท (โดยประมาณ) และมักจะกำหนดการลงทุนได้เริ่มต้นอยู่ที่ 100,000 บาท โดยจะมีระบุสัญญาชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องดอกเบี้ย และเงินต้นที่จะได้คืนภายในระยะเวลาตามที่ทางบริษัทได้แจ้งเอาไว้นั่นเอง

ขยายภาพให้เห็นชัดเจนขึ้น ยกตัวอย่างเช่น บริษัท AF brother ยื่นเสนอขายหุ้นกู้จำนวน 1,000,000 หุ้น โดยมีโครงการนำเงินลงทุนดังกล่าวไปใช้เพื่อนำไปขยายกิจการระบบ Ai โดยมีกำหนดระยะเวลาการกู้ยืม 5 ปี และมีผลตอบแทนปีละ 5%  โดยเมื่อเราได้ทำการลงทุนในหุ้นกู้ตัวดังกล่าว เราก็จะได้เงินคืนมาตามจำนวนที่ซื้อไป บวกกับ ดอกเบี้ยที่ผ่านมาในระยะเวลา 5 ปี นั่นเอง

โดยหุ้นกู้ แตกต่างจากหุ้นธรรมดาทั่ว ๆ ไปก็คือ เมื่อเราทำการซื้อ สถานะของเราจะไม่ใช่ผู้ถือหุ้น แต่เราจะกลายเป็นเจ้าหนี้ และไม่มีสิทธิออกเสียงในการเข้าประชุมผู้ถือหุ้น ได้ผลตอบแทนเป็นดอกเบี้ย ไม่ใช่เงินปันผล และมีอายุในการถือหุ้นกู้

ซึ่งหุ้นกู้แบ่งออกเป็น 5 ประเภทหลัก ๆ ตามที่ ธนาคารไทยพาณิชย์ได้ให้ข้อมูลและจำแนกไว้ดังนี้

หุ้นกู้ด้อยสิทธิ (Subordinated Bond หรือ Junior Bond) ในกรณีที่ผู้ออกตราสารล้มละลาย ผู้ถือหุ้นกู้ประเภทนี้จะมีสิทธิในการเรียกร้องสินทรัพย์จากผู้ออกตราสาร ในอันดับที่ด้อยกว่าเจ้าหนี้สามัญรายอื่น แต่จะสูงกว่าผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิและหุ้นสามัญซึ่งมีสิทธิเรียกร้องเป็นอันดับสุดท้าย

หุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ (Senior Bond) ผู้ถือหุ้นกู้ประเภทนี้จะมีสิทธิในการเรียกร้องสินทรัพย์จากผู้ออกตราสาร ทัดเทียมกับเจ้าหนี้สามัญรายอื่น ๆ และสูงกว่าผู้ถือหุ้นกู้ด้อยสิทธิ ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิและผู้ถือหุ้นสามัญตามลำดับ

หุ้นกู้แปลงสภาพ (Convertible bond) เป็นตราสารหนี้ที่นักลงทุนสามารถเปลี่ยนจากหุ้นกู้เป็นหุ้นสามัญของบริษัทผู้ออกได้ตามราคาที่กำหนด โดยบริษัทผู้ออกจะออกหุ้นสามัญในจำนวนที่มีมูลค่าเท่ากับตราสารหนี้ที่ถืออยู่   สถานะของนักลงทุนจึงเปลี่ยนจากเจ้าหนี้เป็นเจ้าของ และด้วยสถานะการเป็นเจ้าของ จึงทำให้นักลงทุนมีโอกาสได้รับกำไรจากส่วนต่างราคาซื้อและราคาขาย (Capital Gain) หากราคาหุ้นปรับตัวสูงขึ้น แต่หากราคาหุ้นในตลาดยังคงต่ำกว่าราคาที่กำหนดไว้ในการแปลงสภาพ นักลงทุนก็สามารถเลือกที่จะไม่แปลงสภาพเป็นหุ้น และถือเป็นตราสารหนี้ต่อไปเพื่อรับดอกเบี้ยแต่ละงวดตามที่กำหนดไว้ (ซึ่งจะต่ำกว่าหุ้นกู้ปกติของผู้ออกเดียวกัน) และรับเงินต้นคืนที่ราคาพาร์ ณ วันหมดอายุ

หุ้นกู้ชนิดมีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (Secured Bond) คือ หุ้นกู้ที่ผู้ออกตราสาร นำสินทรัพย์มาค้ำประกันการออกหุ้นกู้ และผู้ถือจะมีสิทธิเต็มที่ในสินทรัพย์ที่วางเป็นประกันนั้นเหนือเจ้าหนี้สามัญรายอื่นๆ  โดยปกติในทางปฏิบัติมักจะมีการตั้งบุคคลทำหน้าที่เป็นผู้แทนผู้ถือหุ้นกู้ (Bond Holder Representative) เพื่อทำการตรวจสอบสถานะของสินทรัพย์ที่นำมาค้ำประกัน

หุ้นกู้ชนิดที่ไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน (Unsecured Bond) คือ หุ้นกู้ที่ไม่มีสินทรัพย์ใดๆ วางไว้เป็นประกันในการออก ซึ่งหากผู้ออกตราสารล้มละลายต้องทำการแบ่งสินทรัพย์กับเจ้าหนี้รายอื่นตามสิทธิและสัดส่วน

ทิ้งท้ายก่อนจบบทความนี้ การลงทุนทุกรูปแบบมีความเสี่ยง โปรดพิจารณาและศึกษาสิ่งที่กำลังจะลงทุนอย่างเข้าใจและยอมรับความเสี่ยงตามที่ตัวเราแบกรับได้ ไม่ควรลงทุนด้วยอารมณ์และข่าวเพียงเล็กน้อยด้วยประการทั้งปวง

Comments (No)

Leave a Reply