บล็อกเชน คืออะไร? เรารู้จักมันจริง ๆ แล้วหรือยัง?

เชื่อว่าใครหลาย ๆ คนได้สัมผัสประสบการณ์สังคมไร้เงินสดเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ตั้งแต่เรารู้จักกับคำว่า โมบายแบงก์กิ้ง เพื่อการใช้จ่าย โอนเงิน หรือแม้กระทั่งการลงทุนในหุ้น เพียงแค่กดคลิกเดียวจากแอปพลิเคชันบนมือถือ ในตอนนี้เราอยากจะพาคุณยกระดับไปอีกขึ้น กับอนาคตแห่งวงการ การเงิน การลงทุนและการธนาคาร สิ่งนี้เรียกว่า บล็อกเชน เชื่อว่าหลายคนได้ยินได้ฟังคำ ๆ นี้บ่อยครั้ง แต่ครั้งนี้เราจะพาคุณมารู้จักมันอย่างละเอียด

บล็อกเชน คือ เทคโนโลยีที่ควบคุมศูนย์ข้อมูลแบบไร้ตัวกลาง หรือที่เรามักจะเห็นคำสวย ๆ ยาว ๆ ว่า Distributed Ledger Technology (DLT) Blockchain คือ เทคโนโลยีในการประมวลผลและจัดเก็บข้อมูลแบบกระจายศูนย์ ซึ่งเป็นรูปแบบการบันทึกข้อมูลที่ใช้หลักการ Cryptography ร่วมกับกลไก Consensus โดยข้อมูลที่ถูกบันทึกในระบบบล็อกเชนนั้นจะสามารถทำการแก้ไขเปลี่ยนแปลงได้ยาก ช่วยเพิ่มความถูกต้อง และความน่าเชื่อถือของข้อมู

“ถ้าไม่มี บิทคอยน์ ก็ไม่มี บล็อกเชน” บิทคอยท์เป็นคริปโตเคอเรนซีสกุลแรกของโลก ซึ่งถูกริเริ่มการใช้ และเข้าสู่ตลาดในช่วงปี 2008 นาย ซาโตชิ นากาโมโตะ ผู้คิดค้น มีความตั้งใจที่จะสร้างระบบการเงินและการธนาคารที่ไร้ตัวกลาง โดยได้คิดค้นระบบที่สามารถทำให้คริปโตเคอเรนซีดำเนินการธุรกรรมได้ นั่นก็คือระบบ บล็อกเชน นั่นเอง โดยระบบนี้สามารถติดตามทุกร่องรอยธุรกรรมการเงินได้ เพราะทุก ๆ การดำเนินการจะมี digital footprint ที่ส่งต่อ ๆ กันไปเป็นทอด ๆ เป็นบล็อก ๆ เหมือนกล่องสี่เหลี่ยมที่ถูกผูกติดกันด้วยลูกโซ่

งั้น คนกลาง นายธนาคาร หรือ โบรคเกอร์ อาชีพเหล่านี้ก็ไม่จำเป็นแล้วหล่ะสิ ? และใช่ตอนแรกเราก็เข้าใจแบบนั้นแหละ แต่อย่าพึ่งเข้าใจอะไรผิดไป ในทางตรงกันข้ามเรายังคงต้องอาศัยและพึ่งพาคนกลางอยู่เพราะว่าในระบบการเงินการธนาคารปัจจุบัน เราไม่สามารถที่จะแสดงหลักฐานการเงินแบบดิจิตอลได้ด้วยตนเอง (เว้นเสียแต่ว่าคุณเอาเงินที่จะใช้ฝังไว้กับผนังบ้าน) นั่นเพราะว่าเงินของเราอยู่ในธนาคารที่เราฝากเอาไว้ ธนาคารจึงมีสิ่งที่เรียกว่าสมุดบัญชีเพื่อแสดงหลักฐานว่าคุณคือเจ้าของบัญชีนี้ มีเงินคงเหลืออยู่เท่านี้ ดังนั้นเมื่อคุณต้องการทำบางสิ่งบางอย่างเกี่ยวกับเงินของคุณ ไม่ว่าจะฝากจะถอนจะโอน ธนาคารหรือตัวกลางมีหน้าที่ ๆ จะทำธุรกรรมทางการเงินแทนเรา หรือเรียกง่าย ๆ ว่าเค้าคือตัวแทนอย่างชอบธรรมของเราอีกทีนั่นเอง

และความที่ต้องพึ่งพาตัวแทนนี้เอง ก็เกิดเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ใหญ่มาก ๆ ธุรกิจที่เป็นตัวกลางย่อมต้องทำตัวเองให้น่าเชื่อถือ เค้าต้องโน้มน้าวให้เราเชื่อมั่นว่าตัวกลางหรือธนาคารที่เราเลือกใช้ สามารถที่จะไว้วางใจได้ ตัวกลางจะต้องอัพเดทและแจ้งให้เราทราบทุก ๆ การดำเนินธุรกรรม ซึ่งแน่นอนว่า เราจะต้องมั่นใจว่าตัวกลางนั้น จะซื่อสัตย์ไม่โกงเราอย่างแน่นอน

แล้วบล็อกเชนมีบทบาทตรงนี้อย่างไร ? เทคโนโลยีบล็อกเชนนั้นเป็นระบบที่ตัดตัวกลางในการดำเนินการต่าง ๆ ออกไป ทำให้เราไม่ต้องพึ่งพาคนกลางอีก นั่นหมายความว่าค่าธรรมเนียม หรือ ระยะเวลาการดำเนินการต่าง ๆ จะถูกตัดทอนออกไปด้วยเช่นกัน บล็อกเชนนั้นเป็นเทคโนโลยี ที่จะสามารถมาสร้างระบบที่กระจายอำนาจความน่าเชื่อถือของตัวกลางออกไปจากหนึ่งคน เป็น “ทุกคน” ทำให้เราไม่จำเป็นต้องเชื่อตัวกลางคนใดคนนึงอีกต่อไป โดยสิ่งนี้ถ้าใครมีอายุสักหน่อย อาจเคยโหลดเพลงหรือโหลดภาพยนตร์ผ่านสิ่งที่เรียกว่า Bittorrent สิ่งนี้เป็นเครือข่ายที่มีคนช่วยกระจายไฟล์ที่เราต้องการ ยิ่งคนกระจายมากขึ้นไฟล์ยิ่งโหลดได้เร็ว ยิ่งมีคนกระจายมากยิ่งน่าเชื่อถือเพราะทุกคนวิ่งเข้าไปหาปลายทางเดียวกัน แม้ต้นทางจะมาจากหลากหลายเส้นทางทั่วโลก  หลักแนวคิดนี้คือการทำธุรกรรมกันแบบ Peer-to-Peer ในโลกของ บล็อกเชน  เช่นเดียวกันนั่นเอง

แล้วทำไมมันถึงถูกเรียกว่าบล็อกเชนหล่ะ? บล็อกเชน คือวิธีการเก็บข้อมูลบัญชีรูปแบบหนึ่ง นึกภาพง่าย ๆ ว่า พอมีธุรกรรม Transaction ใหม่ ๆ เข้ามา มันก็จะถูกกองรวม ๆ กันไว้ พอได้จำนวนหนึ่งเราก็จะจัดบรรจุธุรกรรมเหล่านั้นลงกล่องบัญชี (Block) และทำการปิดกล่อง พอเราปิดกล่องเสร็จ เราก็จะได้กล่องใหม่หรือ Block ใหม่ขึ้นมานั่นเอง สิ่งที่ทำให้ Blockchain ต่างจากการเก็บบัญชีแบบอื่นคือ เราไม่ได้กลับไปเปิดกล่องบัญชีเก่าเพื่อแก้หรืออัพเดทข้อมูลธุรกรรม แต่กล่องธุรกรรมใหม่จะถูกสร้างขึ้นเรื่อย ๆ เป็นลูกโซ่เส้นยาวไม่รู้จบไปในทางเดียว โดยจะเชื่อมและอ้างอิง reference กับกล่องเก่าอยู่เสมอ ในลักษณะของกล่องหลาย ๆ กล่องที่มีโซ่เชื่อมกัน มันถึงเรียกว่า Blockchain นั้นเอง

โดยทั้งหมดที่กล่าวไปก่อนหน้า สกุลเงินดิจิตอลเป็นเพียงหนึ่งในความสามารถที่บล็อกเชนสามารถทำได้ เราสามารถนำระบบ Trustless System ที่ถูกสร้างด้วย บล็อกเชนมาปฏิรูปธุรกิจที่เราต้องพึ่งพาตัวกลางในปัจจุบันได้อีกด้วย เช่น โซเชียลมีเดียอย่าง เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม หรือ ระบบการค้าขายออนไลน์อย่าง แอมะซอน หรือ อีเบย์